ถ้าจะพูดถึงขอบเขตงานด้านศิลปะที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์นั้นอาจแบ่งได้หลายสาขาวิชา แต่ละส่วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันจนในบางครั้งอาจเรียกรวมกันเป็นสาขาวิชาเดียวกันก็ได้ หรือแม้แต่โปรเจ็คงานในสาขาหนึ่งๆ อาจจะต้องอาศัยทักษะของอีกสาขาวิชาหนึ่งเข้ามาใช้ในการทำงานนั้นๆ มากกว่าหนึ่งอย่างก็ได้ ซึ่งพอจะจำแนกแบบคร่าวๆ ได้ดังนี้
Digital Photography
การถ่ายภาพดิจิตอลถือเป็นสาขาวิชาหนึ่งที่มีความสำคัญและช่วยปูพื้นฐานความเข้าใจหลักการในหลายๆเรื่อง เช่น การจัดองค์ประกอบภาพหรือองค์ประกอบศิลป์ การเลือกและจัดแหล่งที่มาของแสงแต่ละประเภท การจัดไฟสตูดิโอ การถ่ายทอดอารมณ์ของภาพ เหล่านี้เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานอื่นๆได้อีกหลายทางหลายสาขา เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้งานศิลปะแขนงอื่น ยิ่งปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอุปกรณ์ถ่ายภาพสามารถเป็นได้ทั้งเครื่องบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ทำให้ช่างภาพสามารถเรียนรู้เทคนิคได้ทั้งทางด้าน Photography และ Cinematography ไปพร้อมๆ กันได้แม้มีกล้องดิจิตอลเพียงตัวเดียว การพัฒนาในด้านนี้จะนำไปสู่การเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องการ Retouch ตัดต่อภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว
Digital Drawing/Painting
การวาดภาพและการลงสี ระบายสีภาพเป็นเหมือนทักษะพื้นฐานของงานศิลปะลำดับต้นๆ ที่เราพอจะนึกออกเมื่อพูดถึงวิชาศิลปะ ซึ่งหากจะแยกย่อยเป็นรูปแบบของการวาดแล้ว เราสามารถเลือกที่จะวาดได้ทุกสรรพสิ่งที่มีอยู่ในโลกและทุกสรรพสิ่งที่เราสามารถจะจินตนาการออกได้ ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าเราจะถนัดและรักที่จะวาดแนวไหน ตัวอย่างเช่น การวาดภาพคน สัตว์ สถาปัตยกรรม ทิวทัศน์ ออกแบบสิ่งของ ผลิตภัณฑ์ วาดภาพการ์ตูน เป็นต้น การพัฒนาในด้านนี้จะนำไปสู่การพัฒนาในด้านการออกแบบกราฟฟิคทั้ง 2D และ 3D รวมถึงการตัดต่อหรือสร้างเอฟเฟ็คส์ให้กับงานวิดีโอ
Digital Sculpting
เป็นทักษะวิชาใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับความก้าวหน้าของโปรแกรมออกแบบงาน 3D เริ่มต้นเป็นที่รู้จักกันดีในนามของโปรแกรม Zbrush โปรแกรมที่เราสามารถทำให้เราปั้นงานโมเดลสามมิติในคอมพิวเตอร์ได้ ต่อมาค่าย Autodesk ก็ออกคู่แข่งที่ชื่อว่า Mudbox ซึ่งมีการทำงานและความสามารถที่ไม่ต่างกันมากนักแต่รูปลักษณ์ที่ดูจะเป็นมิตรมากกว่า การปั้นโมเดลในคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรมากนัก แต่เป็นหลักการที่ต่อยอดมาจากงานศิลปะว่าด้วยการปั้นการแกะสลัก เรียกได้ว่าคนที่มีทักษะในด้านการปั้นแล้ว ก็สามารถใช้งานหรือสร้างงานโมเดลด้วยโปรแกรมเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก ขอเพียงเรียนรู้การใช้งานเครื่องมือต่างๆ ให้แม่นเท่านั้นเป็นพอ วิชาการปั้นจะนำไปใช้กับงาน 3D โมเดล และการตัดต่อเอฟเฟ็คส์ให้กับงานวิดีโอ
Digital Music/Sound Editing
วิชาที่ว่าด้วยเรื่องเสียงและเพลงซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเจาะจงเฉพาะนักแต่งเพลงหรือนักร้องเท่านั้นนะครับ รวมไปถึงนักออกแบบเสียงเอฟเฟ็คส์ หรือที่เราเรียก Sound Effects นั่นเอง การตัดต่องานเสียงไม่ว่าจะเป็นดนตรีประกอบหรือซาวดน์เอฟเฟ็คส์นั้นเป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทาง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนทั่วไปจะเรียนรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ได้โดยที่ไม่มีใจรักและไม่มีพรสวรรค์ในด้านนี้เลย ทักษะวิชาในด้านนี้จะนำไปใช้ประโยชน์ในงานด้านตัดต่อประเภทมัลติมีเดีย รวมไปถึงการออกแบบเกมส์
Digital Video Editing
เป็นวิชาที่ว่าด้วยการตัดต่อ ตกแต่งงานวิดีโอให้ออกมาตามความต้องการ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นการเรียบเรียง ประพันธ์และถ่ายทอดออกมาในรูปของภาพและเสียงนั่นเอง การที่จะสามารถถ่ายทอดสื่อสารออกมาได้ดีนั้น ผู้ตัดต่องานจำพวกนี้จะต้องมีทักษะในด้านการเล่าเรื่อง จิตวิทยาในการสื่อสารผ่านภาพและเสียง อารมณ์ของงานและเข้าใจธรรมชาติของผู้รับสารในแต่ละรูปแบบแต่ละประเภทด้วย ในขอบเขตของงานประเภทนี้บางงานอาจจะต้องมีการใช้ทักษะผสมผสานหรือประยุกต์ในด้านอื่นร่วมด้วย เช่น Photography/ Drawing / Painting/ รวมไปจนถึงงานด้านสามมิติมาผสมผสานเพื่อให้ได้งานที่แปลกใหม่ ฉะนั้นคนทำงานในลักษณะเช่นนี้จะต้องมีความพร้อม ไหวพริบในเชิงสร้างสรรค์ในการประยุกต์ใช้ศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้กับงานได้อย่างลงตัวและเหมาะสม
Digital Compositing
เป็นเรื่องที่ว่าด้วยการออกแบบกราฟฟิคและเอฟเฟ็คส์ให้กับงานวิดีโอ ซึ่งในบางครั้งเรามักเรียกรวมๆ ว่าเป็น “การตัดต่อวิดีโอ” ซึ่งความจริงกระบวนการสร้างงานเอฟเฟ็คส์ในด้านวิดีโอนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น Motion Graphics ซึ่งเรามักจะเห็นกันในงานไตเติ้ลรายการ โฆษณาและภาพยนตร์ต่างๆ Visual Effects ซึ่งนำมาใช้งานตัดต่อภาพยนตร์และละคร รวมไปถึงการ์ตูนด้วย หากจะเปรียบเทียบกับกระบวนการตัดต่อวิดีโอที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว การตัดต่อเปรียบเสมือนการเรียบเรียงเค้าโครงบทประพันธ์ ส่วนกระบวนการ Compositing เปรียบเสมือนการสร้างสีสันให้กับงานให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ผู้ที่ทำงานในส่วนนี้จะต้องประยุกต์ใช้ทักษะด้านต่างๆ ไม่ต่างไปจากกระบวนการตัดต่อ แต่ด้วยเอฟเฟ็คส์ที่เกี่ยวข้องมีความหลากหลายกว่ากระบวนการตัดต่อทั่วไป จึงอาจจะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะเจาะจงในเรื่องนั้นๆ เป็นพิเศษ เช่น การใช้โปรแกรมสามมิติและรวมไปจนถึงสคริปต์ซึ่งเป็นภาษาด้านคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ
3D Modeling and Rendering
ถือเป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยความสามารถในหลายๆ ด้านประกอบกัน ทั้ง Drawing / Painting / Sculpting/ Photography / Cinematography และ Animation ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กระบวนการสร้างงานหนึ่งๆ หรือโปรเจ็คใดโปรเจ็คหนึ่งอาจแยกย่อยงานของแต่ละสาขาตามทักษะที่ต้องการในแต่ละประเภท เช่น งาน Design หรืองานออกแบบ งานขึ้นรูป หรือ Modeling งานกำกับภาพและจัดแสง งานโครงสร้าง Rigging และงานอนิเมชั่น เป็นต้น ฉะนั้นการทำงานในด้านนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือกันขององค์ความรู้หลายๆด้านประกอบกัน